แจ้งเกิดลูก เกินกำหนดต้องทำยังไง สำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ส่วนใหญ่ เมื่อลูกเกิดมาย่อมมีความยินดีที่จะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน ให้ความรักแบบไม่มีเงื่อนไข ซึ่งนอกจากการกระทำพื้นฐานเหล่านี้ ก็ยังมีเรื่อง เอกสาร ที่จะเป็นสิ่งยืนยันว่าเด็กคนนี้เป็นลูกของใคร, พ่อแม่ชื่ออะไร หรือพักอาศัยอยู่ที่ไหน ซึ่งบางคนที่ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ หรืออาจคิดว่าไม่สำคัญจึงไม่จำเป็นต้องรีบไปทำ แต่จริง ๆ แล้ว เอกสาร ที่ว่ามันเป็นสิ่งสำคัญ และส่งผลกับตัวเด็กโดยตรง เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นก็จะต้องใช้ เอกสาร เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน ดังนั้น จึงมีกฎหมายให้แจ้งเกิดภายใน 15 วัน แต่บางคนที่อาจติดธุระ หรือปัจจัยอื่น ๆ จนทำให้แจ้งไม่ทันจึงมีคำถามว่า แจ้งเกิดลูกเกินกำหนดต้องทำยังไง? เดี๋ยวเราจะไปหาคำตอบพร้อมกัน แต่ก่อนอื่นลองมาดูการแจ้งแบบปกติกันก่อน เพื่อเป็นการประดับความรู้

เอกสารที่ต้องใช้สำหรับการ แจ้งเกิดลูก มีดังนี้
- หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) ที่ออกโดยสถานพยาบาล
- บัตรประชาชน ของพ่อแม่ / ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจมาแจ้งเกิดแทน
- สำเนาทะเบียนบ้าน สำหรับการเพิ่มเด็กชื่อเข้าไป
- เอกสารอื่นเพิ่มเติม อาจเป็นกรณีที่เด็กไม่ได้เกิดจากโรงพยาบาล ก็เลยต้องใช้หลักฐานอื่น ๆ เพื่อยืนยันตัวตน เช่น ใบนัดจากสถานที่ฝากครรภ์, สมุดฝากครรภ์ หรือหนังสือเดินทาง เพราะการที่เด็กไม่ได้เกิดในโรงพยาบาลพ่อแม่จะไม่มี หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.1/1)

สถานที่แจ้งเกิด
นอกจากโรงพยาบาลแล้ว เด็กอาจเกิดที่บ้าน, บนรถ หรือว่าเกิดในต่างประเทศ ดังนั้น สถานที่แจ้งเกิด จึงสามารถแจงได้หลายที่ทั้งสำนักงานเขต, สำนักทะเบียน หรือที่ว่าการอำเภอ แล้วแต่กรณีว่าเด็กเกิดอยู่ที่ไหน สมมติเด็กเกิดในต่างประเทศก็จะต้องมีสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทย ที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้น ๆ เข้ามาดำเนินการ เมื่อเด็กกลับมาประเทศไทยจะได้มี เอกสาร ยืนยันตัวตน ซึ่งในกรณีนี้ยังมีการแบ่งเรื่องของสัญชาติออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่พ่อแม่เป็นคนไทยทั้งคู่ และกรณีที่พ่อหรือแม่เป็นชาวต่างชาติ ก็จะต้องมีการยื่น เอกสาร ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ การจดทะเบียนสมรส ก็ยังมีผลต่อการแจ้งเกิดเช่นกัน
การแจ้งเกิดเกินกำหนด
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าตามกฎหมาย พ่อแม่จะต้องทำการแจ้งเกิดลูกภายใน 15 วัน แต่ถ้าหากเกินกว่านั้นถือว่าผิดกฎหมาย จะต้องถูกปรับเงินไม่เกินจำนวน 1,000 บาท และต้องใช้ เอกสาร คล้ายกับการแจ้งเกิดปกติ แต่อาจมีบางรายการที่เพิ่มเข้ามาแล้วแต่กรณี ดังนี้
- สำเนาทะเบียนบ้าน ของเจ้าบ้าน
- บัตรประชาชน ของพ่อแม่ / ผู้แจ้งเกิด /พยานบุคคลที่ให้การรับรอง
- รูปถ่ายของเด็ก จำนวน 1 รูป (ในกรณีอายุเกิน 7 ปี
- หนังสือรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล (ถ้ามี)

ขั้นตอนการยื่นเอกสาร
- พ่อแม่ / ผู้แจ้งเกิด ยื่นเอกสารต่อนายทะเบียนในท้องที่
- นายทะเบียนตรวจสอบเอกสาร และสอบถามสาเหตุ การแจ้งเกิดเกินกำหนด
- นายทะเบียนนำเสนอนายอำเภอในท้องที่ เพื่อออก สูติบัตร และเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน
หลังจากที่จัดการทุกอย่างเรียบร้อย รายชื่อของเด็กก็จะถูกย้ายเข้าไปยังบ้านที่เจ้าบ้านให้การอนุมัติ แต่ถ้าไม่มีทะเบียนบ้าน เจ้าหน้าที่จะจัดการย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านกลาง ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตในพื้นที่ที่ ซึ่งมันเป็นผลเสียในอนาคต เพราะการทำ เอกสาร เรื่องต่าง ๆ ค่อนข้างจะยุ่งยาก หากเป็นไปได้ควรหาที่อยู่รองรับแล้วค่อย ๆ ขยับขยายน่าจะเป็นผลดีมากกว่า
และในการยื่น เอกสาร จะต้องหา พยานบุคคล ที่น่าเชื่อถือ และสามารถรับรองได้ โดยต้องมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่ง กล่าวคืออยู่อาศัยในที่เดิมมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี แนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ให้หา พยานบุคคล ที่เป็น ข้าราชการสัญญาบัตร จำนวน 2 คน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ แต่ทางที่ดีที่สุดไม่ควรปล่อยให้เกินเวลา อย่างน้อย ๆ จะได้รู้ว่าการเป็นพ่อแม่มือใหม่ก็จะต้องมีความรับผิดชอบในทุกด้าน แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะการที่จะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีความพร้อมในสังคมก็ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของพ่อแม่เหมือนกัน