การพูดคุยกับลูก อย่างสม่ำเสมอช่วยให้ทักษะด้านภาษาของลูกดีขึ้นได้ ตามช่วงวัยของเด็กที่กำลังเจริญเติบโต คนเป็นพ่อเป็นแม่ที่เอาใจใส่ลูก ก็คงจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทุกย่างก้าวอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องพัฒนาการในการพูด สังเกตได้ง่าย ๆ ว่าถ้าลูกบ้านไหนที่พูดเก่งคุยเก่ง พ่อแม่จะต้องมีการชวนคุย หรือพาทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมด้านความคิด, ความจำ หรือการสื่อสารอย่างแน่นอน แต่ถ้าลูกบ้านไหนที่พูดไม่เก่งให้เดาไว้ว่าพ่อแม่อาจจะไม่มีเวลาให้ หรือไม่ก็อาจปล่อยลูกไว้กับหน้าจอ ซึ่งมันส่งผลให้ลูกไม่อยากจะสื่อสารกับใคร เพราะมีความสนใจแค่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น และเชื่อหรือไม่ว่า การพูดคุยกับลูก อย่างสม่ำเสมอช่วยให้ทักษะด้านภาษาของลูกดีขึ้นได้ เนื่องจากว่าลูกจะได้มีการพูดคุย โต้ตอบ และใช้ความคิดในแบบของตัวเอง

การพูดคุยกับลูก เมื่อไหร่ที่ควรสื่อสารกับลูก
พ่อแม่มือใหม่หลาย ๆ คน อาจใช้ความคิดอยู่ตลอดว่า เมื่อไหร่ที่ควรสื่อสารกับลูก? หากอยากจะพูดกับลูกตั้งแต่ยังเป็นทารกลูกจะรู้เรื่องไหม? สำหรับคำถามนี้ต้องบอกว่า จริง ๆ แล้วพ่อแม่สามารถคุยกับลูกได้ตั้งแต่ในท้อง สังเกตได้จากเด็กบางคนที่พ่อแม่ชอบอ่านนิทาน หรือเปิดเพลงกล่อมให้ลูกฟังตั้งแต่ยังไม่เกิด เมื่อถึงเวลาที่ลูกลืมตาออกมาดูโลก ลูกก็จะคุ้นชินกับเสียงที่เคยได้ยินมาตลอด เพียงแต่ว่าอาจจะยังสื่อสารไม่ได้แค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นการที่พ่อแม่คุยกับลูกบ่อย ๆ จะช่วยให้ลูกมี พัฒนาการด้านภาษา ที่ดีขึ้น เพราะในช่วงวัยนี้เป็นต้นไป ลูกจะเริ่มจดจำในสิ่งที่ได้ยินไปเรื่อย ๆ เหมือนเป็นการสะสมคำศัพท์ในชีวิตประจำวัน และเมื่อถึงวัยที่จะสามารถโต้ตอบได้ ลูกก็จะพูดได้เก่งแล้วตอบได้รู้เรื่อง เหมือนการคุยกับผู้ใหญ่ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ส่วนพ่อแม่ที่บอกว่าไม่มีเวลานั้น อยากให้ลองจัดสรรเวลาสักหน่อย หากไม่ใส่ใจเรื่องนี้ก็อาจทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ช้าได้ และการที่ลูกสื่อสารไม่ได้ก็ไม่ได้แปลว่าลูกจะไม่รู้เรื่อง
ความพร้อมในการพูดคุยสำหรับลูกวัยกำลังจำ
ความพร้อมในการพูดคุยสำหรับลูกวัยกำลังจำ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย เพราะการที่พ่อแม่จะสื่อสารอะไรออกไป ก็ต้องดูความพร้อมของลูกเป็นหลัก นอกจากนี้พ่อแม่ก็ต้องงัดเอาเทคนิคต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ลูกโต้ตอบได้มากขึ้น เช่น
- พูดประโยคง่าย ๆ แล้วหยุดให้ลูกพูดต่อคำสุดท้ายของประโยค
- ไม่พูดแทรกขณะที่ลูกกำลังพูด เพราะจะทำให้ลูกลืมในสิ่งที่จะพูดได้
- อ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน ซึ่งอาจจะเป็น นิทานภาพ สีสันสวยงาม เพื่อให้ลูกซึมซับเรื่องราวต่าง ๆ
- โฟกัสไปที่การพูดคุย พ่อแม่จะต้องไม่นำสื่ออื่น ๆ มาเปิดไปพร้อมกับการคุย เพราะลูกจะสนใจแต่สื่อ
- คุยในเรื่องที่ลูกสนใจ ให้พ่อแม่สังเกตความสนใจว่าลูกชอบอะไรแล้วก็ให้เล่าถึงสิ่งนั้น ๆ
- ถาม – ตอบ ในสิ่งที่คิดว่าลูกจะสามารถตอบได้ โดยเลือกคำถามจากสิ่งใกล้ตัว เช่น ชื่อเรียกสิ่งของ

การสอนด้วยสื่อต่างจากการสอนของพ่อแม่อย่างไร
ในปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีพ่อแม่มากมาย ที่ปล่อยให้ลูกอยู่กับจอต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ, IPad หรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อดีของมันก็คือ ลูกจะอยู่นิ่งได้นานตามที่พ่อแม่ต้องการ แต่นั่นก็เป็นข้อดีเพียงข้อเดียว เพราะนอกจากจะทำให้สายตาเสีย และไม่อยากพูดคุยกับคนอื่นแล้ว ก็จะทำให้เด็กมีโอกาสเป็น ออทิสติกเทียม ได้ง่าย ๆ โดยสาเหตุของโรคไม่ใช่การเกิดความผิดปกติทางโครโมโซมแต่อย่างใด แต่มันเกิดจากปัญหาจากการเลี้ยงดูของคนในครอบครัว ที่ปล่อยเด็กไว้กับจอนานเกินไป ทั้งนี้หากพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกเป็น ออทิสติกเทียม ก็จะต้องมีการกำหนดช่วงเวลาในการดูไม่เกิน 1 ชั่วโมง / วัน สำหรับเด็กที่อายุ 2 ปีขึ้นไป ถ้าอายุน้อยกว่าควรงดไปจะดีที่สุด แต่ถ้าเป็นไปได้สื่อที่ดีควรจะเป็นพ่อแม่มากกว่า