เป็นเรื่องปกติทั่วไปที่เหล่าพ่อแม่ทั้งหลายจะเห็นว่า ลูกน้อยชอบโยนข้าวของ แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูว่าลูกอยู่ในช่วงวัยไหน หากเป็นวัยที่ยังไม่ค่อยเข้าใจอะไรมากนักก็คงต้องปล่อยไปก่อน แต่ถ้าเป็นวัยที่เริ่มฟังรู้เรื่องแล้วก็จะต้องมีการบอกการสอนว่าสิ่งไหนทำได้ หรือสิ่งไหนที่ทำไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วพ่อแม่จะต้องปล่อยลูกออกไปเจอสังคมอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากครอบครัว และพ่อแม่เองก็เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกับลูก ซึ่งการที่ลูกเห็นการกระทำของพ่อแม่ทุกวัน ก็จะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ รับมือกับลูกที่ก้าวร้าว ต้องทำยังไง
รับมือกับลูกที่ก้าวร้าว ต้องทำยังไง
ธรรมชาติของเด็กเล็ก
ในเมื่ออายุของลูกยังอยู่ในหลักเดือนจึงไม่แปลกใจว่า ทำไมจึง ชอบโยนข้าวของ นัก และก่อนที่จะมีการบอกกล่าว หรือทำโทษ อยากให้พ่อแม่เข้าใจใน ธรรมชาติของเด็กเล็ก ก่อนว่าเขายังควบคุมตัวเองได้ไม่ดีพอ อาจเนื่องมาจากกำลังพัฒนาทักษะในการใช้มือทำสิ่งต่าง ๆ เช่น การเทน้ำ หรือประเด็นหลักอย่างการ โยนข้าวของ ก็เป็นสิ่งที่ลูกทำได้แล้วเกิดความสนุกกับตัวเอง แต่ลูกก็ไม่ได้รู้ว่ามันเป็นงานที่พ่อแม่ต้องมาเหนื่อยเก็บภายหลัง ดังนั้น พ่อแม่ต้องมี กฎ 3 ข้อควรทำเมื่อลูกน้อยชอบโยนข้าวของ เพื่อเป็นการสอนให้ลูกได้เรียนรู้
กฎข้อที่ 1 ส่งเสริมการใช้มือให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง
การแก้ปัญหาของเด็กช่วงวัยนี้อาจแก้ไม่ได้ 100% เนื่องจากว่าเด็กยังเล็กมาก ก็ยังไม่น่ารู้ว่าอะไรควรทำ หรือไม่ควรทำ แต่ถ้าเด็กเริ่มฟังคำสั่งแล้วทำตามได้ก็สามารถสอนได้ โดยเลือกสอนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น หากเด็กชอบโยนเสื้อผ้าก็หาตะกร้ามาไว้ใกล้ ๆ แล้วชวนให้โยนลงตะกร้าไปเลย หรือถ้าชอบโยนของอื่น ๆ ก็ปล่อยให้โยนไปแล้วก็ชวนเก็บภายหลัง เพื่อให้รู้ว่าคนที่โยนจะต้องเป็นคนเก็บ โดยในช่วงแรกก็ช่วยไปก่อนแล้วค่อย ๆ ลองปล่อยให้เก็บเอง
กฎข้อที่ 2 ให้กำลังใจ / มีบทลงโทษ
เมื่อเด็กทำบางอย่างสำเร็จ หรือทำในสิ่งที่ดีก็จะต้องชื่นชมเสมอ หรือพ่อแม่อาจมอบของที่เด็กชอบ เช่น ขนม แต่ไม่จำเป็นต้องให้ทุกครั้ง เพราะจะทำให้เด็กทำไปแบบหวังผล และควรอธิบายเหตุผลในการให้ด้วย ซึ่ง การให้กำลังใจ เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และเรียนรู้ว่าการกระทำแบบนี้จะทำให้ถูกชื่นชม กลับกันเมื่อเด็กทำผิดก็ต้องสอนให้รู้ว่าการกระทำแบบนี้ไม่สมควรทำ โดยอาจ มีบทลงโทษ เล็กน้อย เช่น การเข้ามุม
กฎข้อที่ 3 ให้เหตุผลอย่างชัดเจน
การให้เหตุผลอย่างชัดเจน กับเด็กไปเลยว่าการกระทำแบบไหนที่ควรทำ หรือไม่ควรทำ ถ้าคนเป็นพ่อแม่จริงจังเด็กก็จะซึมซับเข้าไปว่าสิ่งนี้ทำไม่ได้ แต่พ่อแม่จะต้องใจแข็งหน่อย หากสอนไปเล่นไปลูกก็จะไม่รู้ว่า สิ่งที่พ่อแม่พูดเป็นเรื่องควรทำตามหรือไม่ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดไว้แล้วไม่ควรเปลี่ยนไปมา เช่น ครั้งแรกทำได้ แต่ครั้งที่สองทำไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้จะทำให้เด็กสับสนกับการสอน
วิธีตรวจสอบความโกรธ
โดยทั่วไปแล้ว การโยนข้าวของ ของเด็กก็เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เด็กบางคนที่มีอารมณ์เกรี้ยวกราดแล้วเกิดการอาละวาด ก็ทำให้พ่อแม่หลายคนควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ จนทำให้เกิดการลงมือตีเด็กซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง การกระทำแบบนี้นับเป็นความรุนแรงในครอบครัว และอาจส่งผลให้เด็กเกิดปัญหาในจิตใจได้ ดังนั้น พ่อแม่จึงควรใช้ วิธีตรวจสอบความโกรธ ว่าตอนนี้อยู่ในขั้นไหน เช่น มีการหยิก, มีการดึงผม, มีการกระชาก, ชักดิ้นชักงอ, ทำร้ายคนอื่นหรือไม่ หากไม่ถึงขนาดนั้นถือว่าปกติ สามารถค่อย ๆ บอก ค่อย ๆ สอน โดยพ่อแม่ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างเพื่อให้เด็กเห็น, ปล่อยให้สงบสติอารมณ์ลงก่อนแล้วค่อยมาคุยกันใหม่ด้วยการให้เหตุผล แต่ถ้าเกิดในทุกข้ออาจต้องรีบพาเด็กไปพบจิตแพทย์ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงมากกว่านี้