ซึมเศร้าหลังคลอด คือภาวะที่ไม่มีคุณแม่ท่านใดอยากให้เกิดกับตัวเอง ซึ่งความน่ากลัวของภาวะซึมเศร้าแบบนี้ ถือเป็นภัยเงียบที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่หลังคลอดทุกท่าน และมีคุณแม่อีกหลายรายที่มีภาวะซึมเศร้าแต่ก็ยังไม่รู้ตัว โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ที่มีแนวโน้มจะมีภาวะซึมเศร้ากันมากขึ้นในปัจจุบัน
เรื่องที่น่าเป็นกังวลอีกอย่างหนึ่งในประเด็นนี้คือ คุณแม่หลังคลอดจำนวนไม่น้อย ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากแพทย์ เนื่องจากความคิดที่ถูกสังคมตีกรอบไว้ว่า ผู้เป็นแม่จะต้องรู้สึกมีความสุข มีความอิ่มเอใจกับการมีลูก ในขณะที่ความเป็นจริงอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย และบทความของ Happybabys แม่และเด็ก ในวันนี้ จะขอพาทุกท่านไปทำความเข้าใจกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รวมไปถึงวิธีการช่วยเหลือคุณแม่ที่มีภาวะนี้ด้วย
ภาวะ ซึมเศร้าหลังคลอด คืออะไร
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ หลังคุณแม่คลอดในช่วงวันแรก ๆ และอาจกินเวลาไปนานหลายสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับคุณแม่แต่ละท่านด้วย คุณแม่หลังคลอดที่มีภาวะซึมเศร้า จะมีอารมณ์และสภาพจิตใจที่แปรปรวนและเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ ทั้งเบื่อหน่าย วิตกกังวล นอนไม่หลับ ไม่อยากทานอาหาร ไปจนถึงไม่อยากเลี้ยงลูก
จากผลสำรวจขององค์การอนามัยโลกระบุว่า 1 ใน 5 ของแม่ลูกอ่อนในประเทศกำลังพัฒนากำลังเจอกับภาวะซึมเศร้า และอาจมีตัวเลขจริงที่สูงยิ่งกว่านี้ด้วย ในคุณแม่บางรายอาจมีความรู้สึกเศร้าใจอย่างรุนแรง หดหู่ ไปจนถึงมีความคิดที่อยากทำร้ายตัวเองและทำร้ายลูกน้อยอีกด้วย
สาเหตุของการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมีหลากหลายสาเหตุและปัจจัย โดยขึ้นอยู่กับร่างกายของคุณแม่แต่ละคน อาทิเช่น
- ระดับฮอร์โมนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว อย่าง ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน ฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้
- ความวิตกกังวลในการเลี้ยงลูกน้อย โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นกับคุณแม่มือใหม่ รวมไปถึงการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ทำให้ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตประจำวันน้อยลง
- ครอบครัวของคุณแม่หลังคลอดที่มีประวัติเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง
- ปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และการใช้ชีวิต เช่น ปัญหาการให้นมลูกน้อย ปัญหาการเลี้ยงลูก ปัญหาการเงิน ปัญหาความสัมพันธ์ และปัญหาอื่น ๆ ด้วย
อาการของภาวะ ซึมเศร้าหลังคลอด
- คุณแม่หลังคลอดที่มีภาวะ ซึมเศร้าหลังคลอด อาการ โดยส่วนมาก มักจะเป็นแบบนี้
- เบื่อหน่าย วิตกกังวล ตื่นตระหนก
- อารมณ์แปรปรวน สับสน ขาดสมาธิ
- นอนไม่หลับ หรือ นอนมากจนเกินไป
- มีความรู้สึกไม่อยากเลี้ยงลูก
- ไม่กินอาหาร หรือ กินอาหารมากเกินไป
- รู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ ร้องไห้บ่อย มองไม่เห็นคุณค่าตัวเอง
- แยกตัวออกจากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด ไม่เข้าสังคม
- ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้
- หากอาการหนักมาก มีโอกาสที่จะทำร้ายตัวเองและลูก
การตรวจวินิจฉัย และการรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
แพทย์จะทำการประเมินอาการจากการซักประวัติอย่างละเอียด ทั้งในแง่อาการทางจิตใจ พฤติกรรม และการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ทำแบบทดสอบสุขภาพจิตเพื่อประเมินโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคจิตเวชต่าง ๆ เพื่อให้ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของคุณแม่หลังคลอดได้อย่างถูกวิธี ในส่วนของการรักษา โดยส่วนใหญ่แล้ว แพทย์จะพิจารณาการรักษา ดังนี้
- การบำบัดทางใจ ด้วยการพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อจัดการกับอารมณ์และความคิดตามที่แพทย์แนะนำ
- การรับประทานยา การทานยาเป็นแนวทางการรักษาเพื่อปรับสารเคมีในสมองให้สมดุล รวมไปถึงการแก้ปัญาหาสุขภาพด้วย
- การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า หากร่างกายของคุณแม่ไม่ตอบสนองต่อยา แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการส่งกระแสไฟฟ้าไหลผ่านสมอง เพื่อปรับสารเคมีในสมอง
- การดูแลโดยคนใกล้ชิด แพทย์จะแนะนำให้คนในครอบครัวทำความเข้าใจ อยู่เคียงข้าง และให้การสนับสนุนคุณแม่หลังคลอดให้กลับมาหายดี
- การปรับพฤติกรรม หากคุณแม่หลังคลอด สามารถรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้เอง แพทย์จะแนะนำให้ปรับพฤติกรรมให้คุณแม่ทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ มีเวลาให้ตนเอง ระบายกับคนใกล้ชิด ทำกิจกรรมที่ชอบ หรือพบแพทย์ในทันทีที่รู้ว่าตนเองไม่สามารถรับมือไหว
ทั้งหมดนี้คือ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ไปจนถึงเรื่องวิธีการรักษาภาวะดังกล่าว ที่ Happybabys นำเอามาฝากให้ทุกท่านได้อ่านและทำความเข้าใจ เพราะภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด การดูแลเอาใจใส่ ไปจนถึงการขอคำปรึกษาจากแพทย์ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณแม่หลังคลอดทุกท่าน เพื่อไม่ให้ภัยเงียบนี้ส่งผลร้ายต่อคุณแม่และคนในครอบครัว