ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ โรคอันตรายที่สามารถป้องกันได้

ไข้หวัดใหญ่ เป็นหนึ่งในโรคยอดฮิตที่มักจะพบการระบาดอย่างมากในช่วงฤดูหนาว (มกราคม – มีนาคม) และฤดูฝน (มิถุนายน – ตุลาคม) ของทุกปี โดยโรคร้ายนี้จะมีอาการที่รุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา และยังมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็ได้ และในวันนี้ Happybabys แม่และเด็ก จะขอพาทุกท่านไปตระหนักถึงความอันตรายของโรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งสาเหตุของการติดเชื้อ อาการเมื่อติดเชื้อ รวมไปถึงวิธีการป้องกันและหลีกเลี่ยง เพื่อให้ทุกท่านสามารถลดความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่กันได้ในบทความนี้

รู้จักกับโรค ไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสทางระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน และเป็นโรคที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เพราะมีการระบาดใหญ่ไปทั่วโลกมาแล้วหลายครั้ง ในแต่ละครั้งที่เกิดการระบาดขึ้น จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีป ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางการหายใจ โดยผู้ติดเชื้อได้รับเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศ เมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน โรงงาน การแพร่เชื้อสามารถเกิดขึ้นได้ในวงกว้างด้วยการสัมผัสกับละอองฝอยน้ำมูกหรือน้ำลายของผู้ป่วยอีกด้วย

ลักษณะอาการของโรคไข้หวัดใหญ่

ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการภายนอกที่คล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดธรรมดา แต่ลักษณะอาการป่วยของโรค ไข้หวัดใหญ่อาการ จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรงกว่า เพราะมีระยะฟักตัวของโรคเพียง 1-3 วันเท่านั้นเอง ลักษณะอาการป่วยของโรคไข้หวัดใหญ่ มีดังนี้

  • มีไข้ หนาวสั่น และเหงื่อออก
  • ปวดศีรษะและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • เจ็บคอ ไอแห้ง
  • ปวดตา
  • มีน้ำมูก จาม
  • หายใจถี่ขึ้น
  • ในเด็ก จะมีอาการท้องเสียและอาเจียนเกิดขึ้นร่วมด้วย

นอกเหนือจากอาการป่วยที่กล่าวไปเมื่อข้างต้นแล้ว ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นด้วย ดังต่อไปนี้

  • ภาวะหายใจลำบากเฉียบพลัน
  • โรคหอบหืดกำเริบ
  • หลอดลมอักเสบ
  • หูอักเสบ
  • โรคหัวใจ
  • ปอดบวม หรือปอดอักเสบ ซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนที่อันตรายมากในผู้สูงอายุ

โรค ไข้หวัดใหญ่ มีกี่สายพันธุ์?

โรคไข้หวัดใหญ่ในคนมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ โดยแบ่งเป็นสายพันธุ์ A, B และ C แม้ว่าลักษณะอาการป่วยจะเป็นอาการของไข้หวัดคล้ายกัน แต่เชื้อโรคในแต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกันดังนี้

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A

เชื้อโรค ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ถือเป็นสายพันธุ์ที่สามารถกลายพันธุ์ได้สูงมาก และอาจนำไปสู่การระบาดครั้งใหญ่ได้ เพราะเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายได้ทั้งในคนและสัตว์ตลอดทั้งปี มีภาวะแทรกซ้อนของโรคที่รุนแรงอย่าง ปอดอักเสบ และเคยมีประวัติการระบาดครั้งใหญ่มาแล้วเมื่อปี ค.ศ. 2009 ซึ่งเป็นเชื้อ H1N1

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B

สำหรับ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B จะมีอัตราการกลายพันธุ์ที่ต่ำกว่า โดยส่วนมากจะมีการระบาดในช่วงหน้าหนาว และมีการแพร่กระจายจากคนสู่คนเท่านั้น มักจะเกิดการระบาดในระดับท้องถิ่น ความรุนแรงของการระบาดจึงน้อยกว่าสายพันธุ์ A ทำให้มีโอกาสเกิดการระบาดใหญ่ที่น้อยกว่า

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C มักจะมีลักษณะอาการของการติดเชื้อและป่วยที่อ่อนมาก ๆ ในผู้ป่วยบางรายแทบจะไม่แสดงอาการป่วยให้เห็นเลยด้วยซ้ำ และสายพันธุ์นี้ยังไม่ก่อให้เกิดการระบาดอีกด้วย

ไข้หวัดใหญ่

การป้องกันและการรักษาโรค ไข้หวัดใหญ่

ปัจจุบัน ทุกท่านสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ตามโรงพยาบาลได้แล้ว โดยวัคซีนสามารถป้องกันเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ทั้ง 2 ตระกูลอย่าง H1N1 และ H3N2, สายพันธุ์ B ทั้ง 2 ตระกูลอย่าง Yamagata และ Victoria ได้

แต่ทว่า วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ‘ไม่สามารถป้องกันโรคได้อย่างสมบูรณ์ 100%’ เพราะสุขภาพร่างกายของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน เราจึงต้องมีสุขอนามัยที่ดีเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์
  • พยายามอย่าสัมผัสตา จมูก และ ปาก
  • หากจะจามหรือไอ ควรจามหรือไอใส่ข้อศอกหรือกระดาษทิชชู่ และล้างมือทุกครั้ง
  • หมั่นทำความสะอาดสิ่งของที่สัมผัสหรือใช้งานบ่อย
  • หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัดในช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงหลีกเลี่ยการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ด้วย

สำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถรับยาต้านไวรัสในช่วงระยะฟักตัว เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ โดยเป็นยาในกลุ่ม neuraminidase inhibitor เช่น ยา oseltamivir,zanamivir และ peramivir หรือกลุ่ม endonuclease inhibitor เช่น ยา baloxavir และกลุ่ม adamantanes เช่นยา amantadine และ rimantadine โดยให้ภายใน 48 ชั่วโมง รวมไปถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำด้วย

ทั้งหมดนี้ คือองค์ความรู้ในเรื่องของ ไข้หวัดใหญ่ ที่ Happybabys นำเอามาฝากให้กับทุกท่านในวันนี้ เพื่อให้ทุกท่านได้ตระหนักถึงความอันตรายของโรคไข้หวัดใหญ่ รวมไปถึงวิธีการป้องกัน การดูแลตนเองอีกด้วย หวังว่าข้อมูลที่พวกเรานำมาฝากจะเป็นประโยชน์และช่วยให้ทุกท่านห่างไกลจากโรคอันตราย มีสุขภาพที่แข็งแรงในทุก ๆ วันค่ะ

แชร์บทความนี้
Scroll to Top