โรคมือเท้าปาก เกิดจากอะไร วิธีรักษา และ ป้องกันในช่วงหน้าฝนแบบนี้ ถือได้ว่าเป็นช่วงที่เชื้อโรคและเชื้อไวรัสต่างๆ สามารถเจริญเติบโตได้ดีและแพร่กระจายติดต่อกันได้ง่าย อย่างโรค มือ เท้า ปาก ที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ ที่มีภูมิต้านทานต่ำยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะสามารถติดเชื้อได้ง่ายๆ จึงสร้างความกังวลใจให้แก่คุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย ดังนั้นวันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักโรคนี้กัน พร้อมวิธีรักษาและป้องกันที่ถูกต้อง
โรคมือเท้าปาก เกิดจากอะไร?
โรคมือ เท้า ปาก ( Hand Foot and Mouth Disease ) เป็นโรคที่พบบ่อยในช่วงหน้าฝน โดยเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร Enterovirus 71 ( EV71 ) Coxasackie Virus ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการเป็นไข้ และเป็นแผลในปากตามมา รวมถึงมีตุ่มน้ำใสที่ฝ่ามือฝ่าเท้าและลำตัว ส่วนใหญ่มักพบโรคนี้ในเด็กเล็กๆ แม้ว่าในผู้ใหญ่จะสามารถติดเชื้อได้แต่ก็จะพบได้น้อยกว่า และมักมีอาการที่ไม่รุนแรงเท่าในเด็กเล็ก

ลักษณะอาการของ โรคมือเท้าปาก
- มีไข้ รู้สึกอ่อนเพลีย
- มีแผลในปาก
- มีผื่นแดงที่มือและเท้า หรืออาจมีผื่นขึ้นตามลำตัว แขนและขาด้วย
- เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะเวลาในการฟักตัวของเชื้อไวรัสประมาณ 3 – 7 วัน จากนั้นผู้ป่วยก็จะมีอาการเริ่มต้นคือมีไข้สูง 38 – 39 องศาเซลเซียส ต่อมาจะมีอาการอื่นๆ ตามมาภายใน 1 – 2 วัน เช่น อาการเจ็บคอ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร และเริ่มมีตุ่ม ผื่นแดง หรือมีแผลอักเสบที่ผิวหนัง ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปากทั้งภายในและภายนอก
โรคมือเท้าปาก สามารถหายได้ภายในกี่วัน
โรคนี้จะสามารถหายได้เองภายใน 7 – 10 วัน แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรครุนแรงตามมาได้ เช่น โรคก้านสมองอักเสบ โรคหัวใจอักเสบ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้ปกครองควรสังเกตอาการที่อาจเกิดเป็นภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ มีไข้ขึ้นสูง, ซึม, อ่อนเพลีย, มือสั่น, เดินเซ, อาเจียน, หายใจเหนื่อยหอบ, กล้ามเนื้อกระตุกและชัก หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย แนะนำให้รีบพาลูกน้อยเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด

การติดต่อของ โรคมือ เท้า ปาก
โรคมือ เท้า ปาก สามารถติดต่อกันได้โดยตรงผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำลายหรืออุจจาระ และการสัมผัสทางอ้อมผ่านของใช้, ของเล่น, มือของผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน โดยส่วนใหญ่แล้วมักพบการแพร่ระบาดของโรคนี้ในโรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก
โรคนี้เมื่อหายแล้วก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หากได้รับเชื้อไวรัสคนละสายพันธุ์กับที่เคยเป็น เนื่องจากภูมิคุ้มกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ได้ แม้ว่าจะจัดถูกจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของไวรัสเอนเทอโรเช่นเดียวกัน
การรักษา
แพทย์จะคอยดูแลรักษาตามอาการที่เป็น เช่น ให้ยาแก้ไข้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลียมากๆ แพทย์จะให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดร่วมกับยาลดไข้ ให้ยารักษาแผลในปาก และอาจให้ยาปฏิชีวนะในกรณีจำเป็น ร่วมกับการเฝ้าสังเกตอาการเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงด้วย

การป้องกันโรค มือ เท้า ปาก
- สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน
- ผู้ปกครองควรสอนวิธีการล้างมือที่ถูกต้องแก่เด็กๆ ด้วยการล้างมือให้สะอาดโดยใช้สบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์
- ทำความสะอาดของใช้และของเล่นเด็กอยู่เสมอ
- ดูแลความสะอาดเรื่องของอาหารและน้ำดื่ม
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ และของใช้ส่วนตัวอื่นๆ
- ไม่ให้เด็กๆ ไปอยู่ในสถานที่แออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามเด็กเล่น โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโรค
- หากลูกน้อยของคุณป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรให้หยุดเรียนและพักรักษาตัวให้หายก่อน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่นๆ และควรแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบด้วย
- เสริมเกราะป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน โรคมือเท้าปาก ( EV71 ) โดยแนะนำให้เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี และป้องกันการเกิดอาการของภาวะแทรกซ้อนขั้นรุนแรง ที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
และนี่ก็คือ โรคมือ เท้า ปาก ( Hand Foot and Mouth Disease ) ที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าฝนแบบนี้ เชื่อว่ามีผู้ปกครองหลายคนที่กังวลใจกันอยู่ไม่น้อย ดังนั้นเมื่อรู้จักอาการ การรักษาและการป้องกันแล้ว ก็อย่าลืมนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อลงได้ ส่วนบ้านไหนที่สังเกตอาการของลูกน้อยแล้วมีความสุ่มเสี่ยงเป็นโรคนี้สูง ก็ให้รีบพาไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อทำการรักษาได้ทันท่วงที