มดลูกอักเสบ อาการเป็นยังไงผู้หญิงทุกคนควรรู้ หากพูดถึงสรีระของมนุษย์ก็จะต้องบอกว่ามีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากลักษณะภายนอกแล้ว ระบบภายในต่าง ๆ ของร่างกายก็ยังมีแยกย่อยออกไปอีกมากมาย โดยเฉพาะร่างกายของผู้หญิงที่มีรายละเอียดเยอะแล้วก็ต้องดูแลตัวเองอย่างดี ยิ่งถ้าเป็นระบบภายในด้วยแล้วก็ควรจะต้องได้รับการตรวจเป็นประจำ เพราะบางครั้งก็อาจมีโรคร้ายแฝงอยู่ได้ และในวันนี้เราจะมาพูดคุยถึงเรื่อง มดลูกอักเสบ กันว่ามันมีอาการแบบไหน
ปาก มดลูกอักเสบ คืออะไร
ปากมดลูกอักเสบ คือ การที่มดลูกส่วนล่างสุดเกิดการอักเสบ โดยผู้ที่มีภาวะนี้จะรู้สึกเจ็บปวดในเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ มีการตรวจภายใน มีตกขาวไม่ปกติ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งไม่ใช่ช่วงของการมีประจำเดือน หากมีลักษณะอาการแบบนี้ให้ไปพบแพทย์ เพราะถ้าหากเกิดการติดเชื้อขึ้นมา ก็อาจจะส่งผลให้เชื้อนี้กระจายไปยังส่วนของมดลูก, ปีกมดลูก และ ช่องท้อง จนทำให้เกิดภาวะมีบุตรได้ยาก หรือถ้าในรายที่ตั้งท้องอยู่แล้ว และมีการติดเชื้อก็อาจทำให้ส่งผลเสียกับเด็กในท้อง แต่ในบางรายก็อาจไม่ได้แสดงอาการออกมา จนกว่าจะได้รับการตรวจภายในจึงจะรู้ว่ามีอาการของ ปากมดลูกอักเสบ หรือไม่

อาการของผู้ที่มีภาวะ ปากมดลูกอักเสบ
- มีตกขาวในปริมาณมาก โดยอาจมีได้ทั้งสีเทา หรือสีขาว ในบางรายอาจมีกลิ่น
- มีอาการปวดบริเวณช่องคลอด, ท้องน้อย และหลัง
- มีเลือดออกทางช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ / ช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
- ปัสสาวะบ่อย หรือมีอาการปวดขณะปัสสาวะ
สาเหตุของการเกิด ปากมดลูกอักเสบ
- ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในแท้ / หนองในเทียม, โรคเริมที่อวัยวะเพศ
- แพ้สารเคมี โดยอาจเป็นยาฆ่าเชื้อใช้สวนล้างช่องคลอด
- แพ้ถุงยางอนามัย และผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นสำหรับจุดซ่อนเร้น
- แพ้ผ้าอนามัยแบบสอด
- แพ้เครื่องมือคุมกำเนิด เช่น หมวกครอบปากมดลูก
- ฮอร์โมนไม่สมดุล ทำให้ส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอด
- เชื้อแบคทีเรียไม่สมดุล เพราะอาจมีแบคทีเรียชนิดไม่ดีมากเกินไป
- ฉายรังสี ซึ่งเป็นการรักษาโรคมะเร็งก็ทำให้กระทบได้

วิธีการตรวจปากมดลูกอักเสบ
วิธีการตรวจปากมดลูกอักเสบ สามารถทำได้ 3 วิธี คือ
1. การตรวจภายใน วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่แพทย์เลือกใช้เป็นอันดับแรก โดยวิธีการก็คือ แพทย์จะใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในช่องคลอด และใช้มืออีกข้างกดไปที่ท้องกับบริเวณเชิงกราน หรือไม่ก็ใช้เครื่องมือทางการแพทย์สอดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อทำการตรวจมดลูก, ปากมดลูก และอวัยวะใกล้เคียงในอุ้งเชิงกราน
2. การเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ วิธีนี้เป็นการเก็บตัวอย่างเซลล์ หรือตัดเนื้อเยื่อทั้งบริเวณปากมดลูก หรือบริเวณช่องคลอด เพื่อไปตรวจหาความผิดปกติ
3. การตรวจเพาะเชื้อ วิธีนี้แพทย์จะใช้ก้านสำลีเช็ดของเหลวบริเวณปากมดลูก หรือช่องคลอด แล้วนำไปส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาเป็นสาเหตุของการอักเสบ
เมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจเรียบร้อยแล้ว หากผู้ป่วยมีภาวะของ ปากมดลูกอักเสบ แพทย์ก็จะรักษาไปตามระดับความรุนแรงของอาการ โดยเบื้องต้นอาจได้รับคำแนะนำ ดังนี้
- ควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสาเหตุของการระคายเคือง
- ใช้ยาปฏิชีวนะ ให้เหมาะกับชนิดของเชื้อ เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจาย
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการนี้จะหายไป
- ผู้ป่วยโรคเริมบริเวณอวัยวะเพศ จะได้รับยาต้านไวรัสบรรเทาอาการ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
- การผ่าตัดโดยใช้ความเย็น เป็นการทำลายเซลล์ที่ผิดปกติในปากมดลูก

การป้องกันปากมดลูกอักเสบ
สำหรับวิธี การป้องกัน ปากมดลูกอักเสบ ก็เป็นวิธีเบื้องต้นที่เราสามารถให้ป้องกันได้ง่าย เช่น
- ใช้ถุงยางอนามัยในขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ
- หากตรวจพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จะต้องเข้ารับการรักษาทั้งสองคน
- ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดความระคายเคือง หากจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะต้องควรควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป
ทั้งนี้ถ้าหากปฏิบัติตามข้อแนะนำต่าง ๆ แล้ว และได้รับการตรวจภายในอยู่เป็นประจำ ก็จะทำให้การเกิดภาวะ ปากมดลูกอักเสบ ลดลง หากรู้เร็วก็จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ดูเนื้อหาอื่นเพิ่มเติม : แม่และเด็ก
ขอบคุณข้อมูล : วิกิพีเดีย