baby development newborn to 1 year

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ พัฒนาการเด็ก แรกเกิด ที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเลี้ยงลูกและการดูแล พัฒนาการเด็ก สำหรับคุณพ่อและคุณแม่มือใหม่นั้น ถือเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลาในการเรียนรู้อยู่ยาวนานพอสมควร ซึ่งเด็กทารกในแต่ละช่วงวัยก็มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ เด็กทารกแรกเกิด ที่ยังพูดไม่ได้ ก็ยิ่งต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อม ก็มีผลต่อการพัฒนาการของเด็กทั้งสิ้น แต่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจยังไม่รู้ว่าลูกน้อยจะมี พัฒนาการเด็กแรกเกิด ในแต่ละเดือนแตกต่างกันอย่างไร วันนี้ happybabys แม่และเด็ก มีคำตอบให้แล้ว

พัฒนาการเด็ก แรกเกิด - 1 ปี

เรียนรู้ พัฒนาการเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ปี

เมื่อลูกน้อยเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยเจริญเติบโตในช่วงปีแรก มักจะมีพัฒนาการที่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเด็กเล็กมักจะมีการเคลื่อนไหว และตอบโต้ต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการได้ยินเสียง การร้องไห้ หรือแม้แต่การขยับร่างกาย เพื่อแสดงถึงความต้องการ ซึ่งพัฒนาการเด็กตั้งแต่ 1 เดือนจนถึง 12 เดือน หรือ 1 ปี ก็มีกระบวนการเรียนรู้แตกต่างกันออกไป ในวันนี้เราเลยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ พัฒนาการของเด็ก มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้ศึกษากันดูกัน

พัฒนาการ 1 เดือน

สำหรับ เด็กทารก ในช่วง 1 เดือนแรก จะมีปฏิกิริยาในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าโดยรอบได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการมองหน้า สบตา เอียงหน้าไปมา ซึ่งในช่วงวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรเอียงหน้าไปมาช้า ๆ และมองสบตาและพูดเล่นกับลูกบ้าง เพื่อให้เด็กได้เกิดการจดจำหน้าและเกิดความคุ้นเคยนั่นเอง

พัฒนาการ 2 เดือน

ในช่วง 2 เดือนถัดมา เด็กจะสามารถชันคอในท่าคว่ำ ทำเสียงอ้อแอ้ได้ และสามารถยิ้มหรือมองตามสิ่งเคลื่อนไหวได้ ซึ่งคุณแม่สามารถฝึกให้ลูกน้อย นอนเล่นบนเบาะในท่านอนคว่ำ พร้อมพูดคุย ทำเสียง และร้องเพลงให้ลูกฟัง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกน้อย ได้ฝึกการเคลื่อนไหวคอและอวัยวะต่าง ๆ

พัฒนาการเด็ก 3 เดือน

เมื่อลูกน้อยเข้าสู่เดือนที่ 3 จะสามารถส่งเสียงตอบโต้ ชันคอตรงเมื่ออุ้มนั่งได้แล้ว ซึ่งในช่วงนี้คุณพ่อกับคุณแม่ ก็จำเป็นต้องฝึกให้ลูกนั่งบ่อย ๆ และพยายามพูดคุยทำเสียงตอบโต้กับลูกเป็นประจำทุกวัน ก็จะช่วยให้ลูกเริ่มเกิดพัฒนาการในด้านการทรงตัวและการตอบโต้กับคุณพ่อคุณแม่

พัฒนาการเด็ก 4 เดือน

หลังจากที่เข้าสู่พัฒนาการเดือนที่ 4 ลูกน้อยจะสามารถหัวเราะ จับสิ่งของ และชูคอตั้งขึ้นในท่าคว่ำได้แล้ว ซึ่งคุณแม่สามารถหากิจกรรมสนุก ๆ อย่างการชูของเล่นให้ลูกคว้า พร้อมกับส่งเสียงเชียร์หรือให้กำลังใจลูกน้อยเมื่อสามารถทำตามสิ่งที่สอนได้สำเร็จ

พัฒนาการเด็ก 5 เดือน

ช่วง 5 เดือน จะเป็นช่วงที่ลูกน้อย สามารถพลิกคว่ำและพลิกหงายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งคุณแม่ควรหาพื้นที่ให้ลูกหัดพลิกคว่ำด้วยตัวเอง และพยายามหาของเล่นสีสันสดใสมาให้ลูกหยิบจับ รวมถึงในช่วงเวลาที่ต้องทานอาหารหรืออาบน้ำ ควรพูดถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ เพื่อให้ลูกน้อยได้คุ้นชินกับคำศัพท์ต่าง ๆ ในขณะที่ทำกิจกรรม

พัฒนาการ 6 เดือน

ในช่วงวัย 6 เดือน ลูกน้อยจะสามารถโต้ตอบและคว้าของด้วยมือเดียวได้แล้ว รวมถึงสามารถหันหาเสียงเรียกชื่อและจำเสียงต่าง ๆ ได้ ดังนั้นคุณแม่ควรฝึกให้ลูกเรียกชื่อเล่น และพูดคุยกับลูกน้อยบ่อย ๆ รวมถึงหากิจกรรมสนุก ๆ อย่างการเล่นจับของ หรือเล่นโยกเยกกับลูกน้อยเพื่อสร้างความใกล้ชิดกับลูก

พัฒนาการ 7 เดือน

เมื่อเข้าสู่อายุ 7 เดือน เด็กจะสามารถคว้าของ สลับมือถือของ และนั่งทรงตัวได้เอง ซึ่งคุณแม่ควรหาของเล่นที่มีผิวหยาบ อ่อน แข็ง นุ่ม และเรียบ มาให้ลูกได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ทางด้านการสัมผัส รวมถึงช่วงนี้ควรอุ้มลูกให้น้อยลงและพยายามหัดให้ลูกหัดเคลื่อนไหวร่างกายด้วยตัวเอง

พัฒนาการ 8 เดือน

สำหรับในช่วง 8 เดือน เด็กจะเริ่มเกิดกระบวนการสังเกตสิ่งของต่าง ๆ รอบตัวได้แล้ว ซึ่งกิจกรรมที่เหมาะสำหรับเด็กในวัยนี้คือการเล่นจ๊ะเอ๋ จับปูดำ จ้ำจี้ และตบมือ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ และเสริมพัฒนาการด้านความคิดให้กับลูกน้อย

พัฒนาการ 9 เดือน

ในช่วงที่เข้าสู่พัฒนาการ 9 เดือน ลูกน้อยจะเริ่มคลาน เข้าใจเสียงคำสั่ง และใช้นิ้วจับสิ่งของรอบตัวได้บ้างแล้ว ซึ่งคุณแม่ควรหัดให้ลูกเริ่มกินข้าวด้วยตัวเอง เช่น ข้าวสุก มะละกอหั่นชิ้นเล็ก และฟักทองต้ม รวมถึงพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีชิ้นใหญ่หรือแข็งจนเกินไปเพราะอาจทำให้ติดคอลูกน้อยได้

พัฒนาการ 10 เดือน

หลังจากที่ลูกเริ่มเข้าสู่เดือนที่ 10 ก็จะสามารถเกาะยืนและเดินได้ด้วยตัวเอง รวมถึงสามารถส่งเสียงหม่ำ จ๋า จ๊ะ หรือขานรับได้บ้างแล้ว ซึ่งคุณแม่ควรฝึกให้ลูกหัดยืนและเกาะตามกำแพงหรือสิ่งของต่าง ๆ เพื่อฝึกกระบวนการเคลื่อนไหวทางด้านร่างกาย รวมถึงฝึกให้ลูกออกเสียงบ่อย ๆ ก็จะช่วยให้ลูกพูดได้เร็วขึ้น

พัฒนาการ 11 เดือน

เข้าสู่วัย 11 เดือน เป็นช่วงที่เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองและมีการเลียนเสียงพูดรวมถึงท่าทางต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ดังนั้นคุณแม่ควรหากิจกรรมสนุก ๆ อย่างการหาของเล่น หนังสือ หรือแม้แต่ตุ๊กตา มาให้ลูกได้เล่นกันดู ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้เร็วขึ้นและสามารถเข้าใจถึงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น

พัฒนาการ 12 เดือน

เมื่อถึงอายุ 1 ปี หรือ 12 เดือน ลูกน้อยจะสามารถก้าวเดินได้ประมาณ 1-2 ก้าว เลียนแบบเสียงพูดได้ และสามารถเรียกชื่อพ่อแม่ได้แล้ว ซึ่งในช่วงวัยนี้ คุณแม่ควรสอนให้ลูกเรียนรู้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงพูดคุยกับลูก ๆ โดยสบตา มองหน้า และมองปาก เพื่อฝึกให้ลูกเกิดการเลียนแบบและปฏิบัติตาม

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ พัฒนาการเด็ก 1 เดือน – 1 ปี วัยแห่งการเรียนรู้

เพราะ พัฒนาการเด็ก ในช่วงวัยแรกเกิดจนถึง 1 ปี เป็นวัยที่คุณพ่อและคุณแม่ควรให้ความใส่ใจและดูแลเป็นพิเศษ เพราะด้วยช่วงวัยนี้ที่ลูกยังไม่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับลูกน้อยตลอดเวลา ซึ่งภายหลังจากที่ผ่านพ้นช่วงวัยแรกเกิดไปแล้ว ลูกก็จะสามารถรับรู้ถึงประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้ดีขึ้น ซึ่งถ้าอยากให้ลูกเติบโตเป็นเด็กที่มีความฉลาดและเรียนรู้ไว การให้ลูกได้ทำกิจกรรมตั้งแต่ช่วง 1-12 เดือนแรก ก็เป็นสิ่งสำคัญที่เสริมสร้างพัฒนาการในการเติบโตที่ดีให้กับลูกน้อยได้ไม่ยากเลย


แชร์บทความนี้
Scroll to Top