โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก สัญญาณอันตราย โรคไข้เลือดออกในเด็ก

โรคไข้เลือดออก สัญญาณอันตราย โรคไข้เลือดออกในเด็ก เมื่อฤดูฝนมาเยือน ก็มักจะมาพร้อมกับ เชื้อโรคร้าย และไข้ชนิดต่าง ๆ เพราะเป็นช่วงที่เอื้ออำนวยต่อการ แพร่ระบาดของ เชื้อโรคได้ดีที่สุด อย่างเช่น โรคไข้เลือดออก ที่มีสาเหตุมาจากฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำขังจนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย และยิ่งบ้านไหนที่มีเด็กเล็กยิ่งต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะในเด็กจะค่อนข้างรุนแรงและอันตรายกว่าในผู้ใหญ่ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ทำความรู้จักกับ โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ ( Dengue ) ซึ่งจะมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV – 1, DENV – 2, DENV – 3 และ DENV – 4 โดยแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป หากใครเคยเป็นไข้เลือดออกสายพันธุ์ไหนแล้วก็จะไม่เป็นสายพันธุ์นั้นซ้ำอีก แต่จะสามารถเป็นโรคไข้เลือดออกในสายพันธุ์อื่นๆ ได้

การติดต่อของไข้เลือดออก

สำหรับการติดต่อของโรคนี้จะมียุงลายเป็นตัวพาหะนำโรค เมื่อยุงลายตัวเมียดูดเลือดจากผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่เข้าไป เชื้อไวรัสเดงกี่ในยุงก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและแพร่กระจายเชื้อเข้าไปสู่ต่อมน้ำลายของยุง เพื่อเตรียมพร้อมที่จะปล่อยเชื้อให้กับคนที่ถูกกัดในครั้งต่อไป ซึ่งเชื้อไวรัสนี้จะสามารถอยู่ได้ตลอดอายุขัยของยุง หรือประมาณ 1 – 2 เดือน

โรคไข้เลือดออก

9 สัญญาณอันตรายของโรคไข้เลือดออกในเด็ก

  1. ไข้ลดลงแต่อาการดูไม่ดีขึ้น อาการแย่ลง เบื่ออาหาร ซึม ไม่ค่อยเล่น และรู้สึกอ่อนเพลีย
  2. มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนอยู่ตลอดเวลา
  3. ปวดท้อง
  4. มีเลือดออก เช่น อาเจียน เลือดกำเดาไหล หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
  5. สังเกตได้ว่าพฤติกรรมของเด็กต่างจากปกติ
  6. รู้สึกกระหายน้ำตลอดเวลา
  7. ในเด็กเล็กมีอาการร้องงอแง กวนตลอดเวลา
  8. ตัวเย็นๆ สีผิวคล้ำลง หรือตัวลาย
  9. ปวดปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะเลยนานเกิน 4 – 6 ชั่วโมง

อาการของโรคไข้เลือดออก

สำหรับอาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคไข้เลือดออก มักแสดงออกหลังได้รับเชื้อประมาณ 5 – 8 วัน โดยทั่วไปหากเป็นการติดเชื้อครั้งแรกผู้ป่วยจะมีอาการไม่รุนแรงนัก แต่หากเป็นการติดเชื้อครั้งที่สอง ก็อาจรุนแรงจนมีภาวะไข้เลือดออกได้ ซึ่งอาการของโรคนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังต่อไปนี้

  • ระยะไข้สูง โดยจะเริ่มมีไข้สูงถึง 38 – 40 องศาเซลเซียส แม้ว่าจะกินยาลดไข้ หรือเช็ดตัวแล้วก็ตาม ไข้ก็ยังไม่ลดลงและจะเป็นแบบนี้อยู่ 2 – 7 วัน บริเวณดวงตาและใบหน้าจะแดงกว่าปกติ รู้สึกเบื่ออาหาร ซึม บางคนมีผื่นขึ้น หรือมีจุดเลือดออกขึ้นบริเวณลำตัว แขนและขา
  • ระยะวิกฤติ มักเกิดประมาณวันที่ 3 – 6 หลังจากระยะไข้สูง โดยระยะนี้ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่เพลียมากขึ้น ปวดท้อง ท้องอืด เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน บางคนอาจอาเจียนเป็นเลือด ขับถ่ายเป็นสีดำ และในกรณีที่มีอาการรุนแรงมาก มือเท้าจะเย็น ปัสสาวะน้อย อาจเกิดอาการช็อกได้ ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
  • ระยะฟื้นตัว สำหรับระยะนี้จะเกิดหลังจากไข้ลดลงโดยที่ไม่มีอาการช็อก เกล็ดเลือดจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ชีพจรและความดันโลหิตเริ่มมีความคงที่ อาการทั่วไปดีขึ้นตามลำดับ เริ่มมีความอยากอาหาร ปัสสาวะมากขึ้น และมีผื่นแดงคันขึ้นตามตัว
โรคไข้เลือดออก

การดูแลรักษา

ในปัจจุบันยังไม่มียาตัวไหนสามารถต้านเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้ ดังนั้นการรักษาจึงต้องเป็นไปตามอาการ โดยหากมีไข้ให้เช็ดตัวและให้ทานยาพาราเซตามอลลดไข้ตามปกติ แต่ห้ามใช้ยาแอสไพริน หรือไอบูโพรเฟนเด็ดขาด นอกจากนี้ก็ต้องเฝ้าสังเกตอาการ ระวังการช็อกหลังจากที่ไข้ลดลง หากผู้ป่วยทานอาหารได้น้อยให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่

วิธีการป้องกัน

สามารถป้องกันโรคนี้ได้ โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างสม่ำเสมอ เช่น แหล่งน้ำขังบริเวณในบ้านหรือใกล้ๆ ที่พักอาศัย รวมถึงต้องป้องกันตนเองและลูกน้อยไม่ให้ถูกยุงกัดด้วยการทายากันยุง นอนในมุ้ง ซึ่งควรทำให้เป็นกิจวัตรในทุกๆ วัน และนอกจากนี้ก็คือเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกในเด็ก และควรพาเด็กๆ ไปพบแพทย์เมื่อมีอาการป่วยเป็นไข้ พร้อมติดตามอาการและควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้หากพบว่าลูกน้อยของคุณมีอาการป่วย ควรให้หยุดเรียนก่อน และผู้ปกครองต้องเฝ้าสังเกตลูกน้อยถึงสัญญาณเสี่ยงอาการโรคไข้เลือดออกด้วย แม้ว่าไข้จะลดลงก็อย่าชะล่าใจ ควรพาลูกน้อยเข้าพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้อง เพราะหากปล่อยไว้หรือพบหมอล่าช้าเกินไป อาจทำให้เกิดอาการช็อกได้

ดูเนื้อหาอื่นเพิ่มเติม : แม่และเด็ก

ขอบคุณข้อมูล : วิกิพีเดีย

แชร์บทความนี้
Scroll to Top