เบาหวานในเด็กอันตรายกว่าที่คิด Diabetes หรือ โรคเบาหวาน คือภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนผิดปกติ เพราะร่างกายไม่สามารถหลั่งสารอินซูลินได้เพียงพอที่จะจัดการกับระดับน้ำตาลได้ หรือที่เรียกว่า “ภาวะดื้ออินซูลิน” โดยปัจจุบันโรคนี้เริ่มพบได้บ่อยในเด็กเล็ก ซึ่งสาเหตุของโรคอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยและอันตรายกว่าที่คิด ดังนั้นวันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจ โรคเบาหวานในเด็กกัน เมื่อเป็นแล้วผู้ปกครองควรทำอย่างไร

เบาหวานในเด็กอันตรายกว่าที่คิด แบ่งออกได้ 2 ประเภท ดังนี้
เบาหวานชนิดที่ 1 ( type 1 diabetes )
เกิดขึ้นได้ในเด็กตั้งแต่อายุยังน้อย โดยมากกว่าร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้ เกิดจากภูมิต้านทานตนเองมาทำลายเบต้าเซลล์ของตับอ่อน จึงส่งผลให้ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินในร่างกายได้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
อาการ กระหายน้ำ, ดื่มน้ำบ่อย, ปัสสาวะเยอะ, หิวบ่อย, กินเก่งแต่น้ำหนักลดลง, อ่อนเพลีย, ในบางรายอาจรุนแรงจนเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยและอาจช็อกหมดสติได้
การรักษา ฉีดยาอินซูลินและเจาะเลือดบริเวณปลายนิ้วเพื่อตรวจเช็คน้ำตาล ทำควบคู่ไปกับการคุมอาหาร ทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายที่เหมาะสม ทั้งนี้สิ่งที่ต้องระวังก็คือภาวะแทรกซ้อนของโรค อย่างภาวะเลือดเป็นกรด ( Ketoacidosis ) ที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
เบาหวานชนิดที่ 2 ( type 2 diabetes )
โรคเบาหวานชนิดนี้เกิดจากจากเซลล์ในร่างกายไม่ตอบสนอง หรือมีการดื้อต่ออินซูลิน โดยส่วนใหญ่พบได้ในเด็กที่เป็นโรคอ้วนหรือมีภาวะโภชนาการที่เกินกำหนด และอีกสาเหตุคือเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น เชื้อชาติ ประวัติการคลอดที่มีน้ำหนักแรกเกิดมากกว่าหรือน้อยกว่าปกติ
อาการ ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะในเวลากลางคืน ผิวหนังบริเวณต้นคอหนาดำ บาดแผลหายช้า
การรักษา กินยาตามหมอสั่งเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด หรือต้องให้ยากระตุ้นการทำงานของอินซูลิน ซึ่งควรทำคู่กับการดูแลเรื่องอาหารการกินและออกกำลังกายสม่ำเสมอ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน และระดับคอเลสเตอรอลสูง

ทำอย่างไร เมื่อลูกน้อยเป็นเบาหวาน
เด็กๆ จะไม่สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงของร่างกายตนเอง หรือรู้ข้อมูลที่มีความซับซ้อนเช่นนี้ได้ ดังนั้นผู้ปกครองเองควรมีความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานอย่างละเอียด ตั้งแต่ที่มาของโรค, สิ่งไหนที่กระตุ้น, อาการ, การรักษา, วิธีการใช้ยา, วิธีเจาะวัดระดับน้ำตาลในเลือด, สอนการดูแลตนเอง, และสัญญาณอันตราย ไปจนถึงการปฐมพยาบาล เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีแก่ลูกน้อย และยังช่วยลดความเสี่ยงหากเกิดภาวะแทรกซ้อนลงได้
- ควรนับสัดส่วนคาร์โบไฮเดรต เพราะจะช่วยให้สามารถคำนวณปริมาณอินซูลินได้ โดยอาจต้องอาศัยนักโภชนาการให้คำแนะนำ เพื่อให้สามารถแบ่งและนับสัดส่วนที่ถูกต้องเหมาะสมกับเด็กวัยนั้นๆ
- เจาะเลือดเพื่อวัดระดับน้ำตาล ก่อนอาหาร 3 มื้อและก่อนนอน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งยังช่วยให้คำนวณปริมาณอินซูลินได้อย่างถูกต้อง
- ฉีดยาอินซูลินให้ลูกน้อย ตามคำแนะนำของแพทย์
- สอนให้ลูกน้อยรับมือกับ “ภาวะน้ำตาลต่ำ” โดยมีอาการคือ เหงื่อออก ใจสั่น และจะเป็นลม เมื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดดู ค่าที่ได้จะต่ำกว่า 60
- สร้างวินัยในบ้าน เช่น ลดการเล่นเกม ลดการดูทีวี ไม่นอนดึก และฝึกนิสัยการทานอาหารที่ถูกต้อง เช่น ไม่ทานจุบจิบ เป็นต้น
- ให้ลูกน้อยทานอาหารครบ 5 หมู่อย่างเหมาะสมตามหลักโภชนาการ และออกกำลังกาย คุมอาหารเพื่อรักษาน้ำหนักให้อยู่ตามเกณฑ์
- ในเด็กบางรายอาจต้องใช้ยาร่วมด้วย เช่น ยาเม็ดและอินซูลิน รวมถึงรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ทั้งนี้ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ เพื่อประเมินอาการและสามารถหาวิธีรักษาที่ได้ผลมากยิ่งขึ้น

การป้องกันโรคเบาหวานในเด็ก
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีไหนที่สามารถป้องกันโรคเบาหวานในเด็กได้ 100% โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคเบาหวานจากกรรมพันธุ์ แต่จะมีวิธีการดูแลในเบื้องต้น โดยปรับการใช้ชีวิตประจำวันให้มีวินัย เลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น อาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักตามเกณฑ์ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็สามารถลดความเสี่ยงของโรคนี้ลงได้
อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานในเด็กอันตรายกว่าที่คิด ผู้ปกครองจึงไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคเบาหวานจากพันธุกรรมยิ่งต้องใส่ใจและให้การดูแลมากเป็นพิเศษ เพราะเมื่อเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนสูง ดังนั้นหากลูกน้อยของคุณมีความเสี่ยง แนะนำให้เข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการตรวจและวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม