ฟันผุในเด็กเป็นอย่างไร เกิดจากสาเหตุอะไร และวิธีดูแลรักษาต้องทำยังไง เชื่อว่าหลายคนที่มีลูกน้อยมักพบเจอกับปัญหายอดฮิตอย่าง โรคฟันผุในเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาที่มักถูกมองข้ามไป เพราะเกิดจากการเข้าใจผิดว่าฟันน้ำนมของเด็กๆ เดี๋ยวก็จะถูกแทนที่ด้วยฟันแท้อยู่ดี แต่ความเป็นจริงแล้ว ฟันผุในเด็กนั้นจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ได้ตามมาอีกมากมาย หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ดังนั้นวันนี้เราจึงจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับ สาเหตุของฟันผุในเด็กพร้อมวิธีการดูแลรักษา เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ที่ถูกต้องกัน

เรามาดูกันว่า ฟันผุในเด็กเป็นอย่างไร
ปัญหาฟันผุสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กตั้งแต่อายุไม่ถึง 1 ขวบ โดยอาการฟันผุในเด็กและฟันผุในผู้ใหญ่นั้นจะมีระยะของฟันผุที่คล้ายๆ กัน ดังนี้
ฟันผุระยะแรกเริ่ม จะพบรอยขุ่นๆ สีขาวบริเวณคอฟัน และอาจมีจุดสีดำหรือสีน้ำตาลเล็กๆ บนผิวฟัน แต่ยังไม่มีอาการปวด
ฟันผุระยะที่ 2 พบคราบสีน้ำตาล หรือจุดสีน้ำตาลบริเวณคอฟัน ซึ่งมีความกว้างมากขึ้น และเริ่มมีอาการเสียวฟัน ปวดฟันตามมา
ฟันผุระยะที่ 3 อาการผุทะลุถึงโพรงประสาทฟัน เกิดอาการปวด เหงือกอักเสบ มีหนอง และมีอาการประสาทฟันอักเสบ
3 สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กฟันผุ
สำหรับปัญหา ฟันผุในเด็ก โดยส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจาก 3 สาเหตุหลักๆ ได้แก่ น้ำตาล แบคทีเรีย และตัวโครงสร้างของฟัน ดังนั้นเมื่อสาเหตุเหล่านี้ได้มารวมตัวกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงทำให้เกิดฟันผุขึ้นมานั่นเอง
น้ำตาล
แน่นอนว่าอาหารมื้อหลักๆ ของเด็กๆ ก็คือ นม โดยนมทุกชนิดจะมีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำตาลแลคโตส ยิ่งเป็นนมรสหวานด้วยแล้ว เด็กๆ ก็จะยิ่งได้รับน้ำตาลซูโครสของโปรดแบคทีเรียเสริมไปด้วยแบบเต็มๆ และไหนจะขนมหวานต่างๆ ที่เด็กๆ ชอบรับประทานก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของฟันผุเช่นเดียวกัน
เชื้อแบคทีเรีย
เชื้อแบคทีเรียนั้นจะเจริญเติบโตอยู่ในขี้ฟันของคนเรา โดยขี้ฟันจะเกิดทุกๆ นาที ยิ่งหากปล่อยปละละเลยไม่ยอมแปรงฟันให้สะอาด จำนวนแบคทีเรียก็จะสะสมเพิ่มทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นทุกคนจึงควรแปรงฟันให้สะอาดในทุกๆ วัน วันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะเด็กๆ ผู้ใหญ่ควรชี้แนะและดูแลให้เด็กๆ แปรงฟันให้สะอาดสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดแบคทีเรียภายในช่องปากลงได้ นอกจากนี้เชื้อแบคทีเรียยังมาจากผู้ใหญ่ที่มีฟันผุ โดยการเป่าอาหาร หรือมีการชิมอาหารก่อนนำมาป้อนเด็กๆ ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุทำให้เด็กๆ ฟันผุได้

ตัวโครงสร้างของฟัน
ตัวโครงสร้างของฟันที่มีการสร้างแบบไม่สมบูรณ์ ก็จะทำให้มีความเสี่ยงทำให้เกิดฟันผุได้ง่ายกว่าปกติ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าฟันของลูกน้อยแข็งแรงหรือไม่? คำตอบก็คือคุณหมอฟันสามารถให้คำตอบได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมีเด็กๆ จำนวนน้อยมากๆ ที่มีโรคบางอย่างตั้งแต่กำเนิด หรือมีกระบวนการสร้างตัวฟันที่ไม่สมบูรณ์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ส่งผลให้ฟันน้ำนมที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นไม่สมบูรณ์แข็งแรงเท่าที่ควรจะเป็น แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเด็กจะมีฟันที่ไม่แข็งแรง แต่หากได้รับการดูแลป้องกันฟันผุอย่างถูกต้องและเต็มที่ ก็สามารถรักษาฟันซี่นั้นและอาจไม่เกิดฟันผุได้

วิธีการดูแลรักษาเมื่อเด็กฟันผุ
- เมื่อพบว่าลูกน้อยมีอาการฟันผุ ผู้ปกครองควรพาลูกน้อยเข้าพบทันตแพทย์โดยตรง เพื่อทำการเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี หลังจากนั้นก็ควรเข้าพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอทุกๆ 6 เดือน เพื่อติดตามตรวจเช็กสภาพภายในช่องปาก รวมถึงรับทราบเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกายภาพด้วย
- ผู้ปกครองควรชี้แนะแนวทาง ให้คำแนะนำลูกน้อยในเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพภายในช่องปากที่ถูกต้อง โดยการแปรงฟันให้สะอาดอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งควรกระตุ้น หรือสร้างแรงจูงใจในการแปรงฟันให้เด็กๆ อย่างเช่น ให้เด็กๆ ได้เลือกแปรงสีฟันที่ชอบเอง แต่ผู้ปกครองก็ต้องไม่ลืมให้เด็กๆ เลือกแปรงสีฟันที่เหมาะสมกับสุขภาพช่องปากของลูกน้อยด้วย
- การเลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ก็สามารถช่วยป้องกันปัญหาฟันผุในเด็กได้ โดยผู้ปกครองควรเลือกยาสีฟันที่มีรสชาติอ่อนโยน ไม่เผ็ดร้อน และไม่มีส่วนประกอบที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น ไตรโคลซาน, สาร SLS, สารกันบูดประเภทพาราเบน และเมนทอล เป็นต้น นอกจากนี้การเลือกใช้ยาสีฟันที่มีกลิ่นหอมด้วย เด็กๆ ก็จะยิ่งชอบและสนุกกับการแปรงฟันมากยิ่งขึ้น
และนี่ก็คือสาเหตุของปัญหาการเกิดฟันผุในเด็กและวิธีการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งปัญหานี้ผู้ปกครองสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยการควบคุมอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลให้เด็กๆ รวมถึงการดูแลแนะนำเรื่องของการแปรงฟันให้สะอาดและถูกวิธีอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งอย่าลืมหมั่นสังเกตฟันของลูกน้อยอยู่เป็นประจำด้วย เพราะหากพบว่าเกิดฟันผุขึ้นมา ก็สามารถรีบเข้ารับการดูแลรักษาฟันผุกับทันตแพทย์ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันการลุกลามและส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกได้