ปัญหาฟันผุในเด็ก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย และสามารถพบเจอในเด็กได้แทบทุกคน จากผลสำรวจพบว่า เด็กที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไปจะมีอาการฟันผุโดยเฉลี่ย 3 ซี่ต่อคน ซึ่งอาการฟันผุโดยส่วนใหญ่ มักจะเกิดจากพฤติกรรมของตัวเด็กเอง ปัญหาฟันผุไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพช่องปากของเด็กเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อร่างกายของเด็กโดยรวมได้อีกด้วย หากคุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญกับสุขภาพช่องปากของลูกน้อยไม่มากพอ ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่โดยที่คุณพ่อคุณแม่คาดไม่ถึงก็ได้
บทความของ Happybabys แม่และเด็ก ในวันนี้ จะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจถึงปัญหาฟันผุในเด็ก ทั้งในเรื่องสาเหตุของการเกิดฟันผุ การป้องกันอาการฟันผุในเด็ก รวมไปถึงแนวทางการรักษาโรคฟันผุในเด็กอีกด้วย เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยดูแลสุขภาพช่องปากของลูกน้อย ป้องกันความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของเด็กในระยะยาว
ปัญหาฟันผุในเด็ก เกิดจากอะไร
โรคฟันผุ เกิดจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปากรวมตัวกับเศษอาหารและน้ำลาย กลายเป็นคราบเหนียว ๆ เกาะติดอยู่ตามผิวฟัน ซึ่งเจ้าแบคทีเรียตัวร้ายจะเปลี่ยนแป้งและน้ำตาลให้กลายเป็นกรด มีฤทธิ์ทำลายผิวฟันได้ ทำให้เกิดรูฟันผุเล็ก ๆ ขึ้น หากไม่มีการแปรงฟันกำจัดคราบดังกล่าวอย่างถูกต้องและเหมาะสม ขนาดของรูฟันผุจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นปัญหาลุกลามใหญ่โต จนส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของผู้ที่มีอาการฟันผุ
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจจะกำลังสงสัยว่า ทำไมเด็ก ๆ ถึงมีปัญหาฟันผุตั้งแต่อายุยังน้อย นั่นเป็นเพราะอาการฟันผุสามารถเกิดขึ้นได้ นับตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกผุดขึ้นมา ชั้นเคลือบฟันน้ำนมมีความบางกว่าชั้นเคลือบฟันแท้ ทำให้เด็กมีอาการฟันผุได้ง่าย อีกทั้งยังมีความเข้าใจผิด ๆ ในคุณพ่อคุณแม่บางรายที่คิดว่า ฟันน้ำนมจะหลุดออกไปและมีฟันแท้ขึ้นมาแทนที่ ทำให้ไม่ได้ใส่ใจเรื่องการรับประทานขนมหวานและการแปรงฟันของลูกมากนัก ซึ่งก็เป็นอีกสาเหตุของการเกิดปัญหาฟันผุในลูกน้อยเช่นกัน
ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคฟันผุ และผลกระทบที่ตามมา
ปัจจัยที่เพิ่มโอกาสในการเกิดปัญหาฟันผุในลูกน้อย ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องควรหลีกเลี่ยง ได้แก่
- ปล่อยให้เด็กกินขนมหวาน หรือนมที่มีรสหวานบ่อยเกินไป
- การให้เด็กหลับไปพร้อมกับขวดนม ทำให้น้ำตาลที่อยู่ในนมทำลายเคลือบฟันขณะหลับ
- การละเลยการดูแลความสะอาดในช่องปาก ไม่ได้แปรงฟันตั้งแต่ฟันซี่แรกเริ่มขึ้น
- ไม่ได้พาลูกเข้าพบกับทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟัน เพื่อเริ่มฝึกการแปรงฟันที่ถูกวิธี
ปัญหาฟันผุในเด็ก นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพในช่องปากของลูกน้อยแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมแบบเรื้อรังตามมาอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น
- ทำให้เกิดอาการปวดฟัน จนเด็กไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ
- เมื่ออาการปวดฟันรุนแรง เด็กจะทานอาหารได้น้อยลง ทำให้ขาดสารอาหารและเจริญเติบโตช้า รวมถึงอาการปวดอาจส่งผลให้เด็กนอนไม่หลับ ซึ่งกระทบต่อการหลั่งโกรทฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้วย
- การติดเชื้อจากฟันผุ อาจลุกลามไปถึงอวัยวะอื่นๆ เช่น เหงือก ขากรรไกร ต่อมน้ำเหลือง และดวงตา ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและกลายเป็นอันตรายร้ายแรงได้
- การมีฟันน้ำนมผุ ฟันล้ม หรือต้องถอนฟันออกไป อาจทำให้ฟันแท้ที่ขึ้นมาใหม่มีปัญหา เช่น ฟันขึ้นช้า ฟันซ้อน ฟันเก หรือฟันเรียงตัวไม่สวยอย่างที่ควรจะเป็น
- ส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็ก เพราะเด็กที่มีอาการฟันผุ ฟันคล้ำ หรือฟันหลอ จะทำให้เด็กไม่กล้าพูดคุยกับใคร เพราะกลัวจะถูกล้อเลียน
ปัญหาฟันผุในเด็ก สังเกตได้อย่างไรบ้าง?
การเกิดฟันผุมีอยู่ 3 ระยะ ซึ่งจะมีอาการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตเห็นได้ดังนี้
- ฟันผุระยะแรก มีรอยสีขาวขุ่นบริเวณหลุมร่องฟัน คอฟัน เคลือบฟัน หรือมีจุดสีดำหรือน้ำตาลเล็ก ๆ ปรากฏขึ้นบนเคลือบฟัน อาจยังไม่มีอาการปวดในระยะนี้
- ฟันผุระยะที่ 2 ขนาดของจุดสีดำบนฟันจะกว้างขึ้น หรือเห็นเป็นคราบสีน้ำตาล ซึ่งแสดงว่าฟันผุไปถึงชั้นเนื้อฟันและเกิดรูบนตัวฟันแล้ว เด็กจะเริ่มมีอาการปวดฟันหรือเสียวฟัน โดยเฉพาะเมื่อมีเศษอาหารเข้าไปติด
ฟันผุระยะที่ 3 เป็นระยะที่การผุลุกลามจนทะลุโพรงประสาทฟัน ทำให้มีอาการปวดฟัน ฟันอักเสบ มีการอักเสบของเหงือกและอวัยวะรอบๆ ฟัน บางครั้งอาจสังเกตเห็นหนองที่เหงือกได้
แนวทางการป้องกันและการรักษาอาการฟันผุในเด็ก
แนวทางการป้องกัน
- ฝึกให้ลูกเข้านอนโดยไม่มีนิสัยติดขวดนม ควรเลิกใช้ขวดนมเมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไปแล้ว
- ฝึกไม่ให้ลูกติดของหวาน หรือทานขนมจุบจิบระหว่างมื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดฟันผุ
- ฝึกให้ลูกบ้วนปากหลังทานอาหาร ดื่มนม และทานขนมทุกครั้ง
- แปรงฟันให้ลูกตั้งแต่ฟันเริ่มขึ้น โดยใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ แปรงวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนเข้านอน เมื่อลูกอายุ 4 ปี จึงฝึกให้แปรงฟันด้วยตัวเองอย่างถูกวิธี
- พาลูกไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก ๆ 6 เดือน
แนวทางการรักษา
แนวทางการรักษาฟันผุ อาจแตกต่างกันไปตามอาการและระยะของฟันผุ หากเป็นระยะเริ่มแรก คุณหมออาจรักษาด้วยการเคลือบหลุมร่องฟัน ร่วมกับแนะนำการทำความสะอาดฟันและการปรับพฤติกรรมที่เหมาะสม หากฟันผุไปถึงชั้นเนื้อฟันแล้ว ก็อาจต้องทำการอุดฟันน้ำนมหรือครอบฟัน เพื่อป้องกันการผุลุกลาม และเพื่อให้ฟันซี่นั้นกลับมาใช้งานได้ปกติ แต่หากฟันผุทะลุไปถึงโพรงประสาทฟัน ก็อาจจำเป็นต้องรักษารากฟันหรือถอนฟันออก ซึ่งทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นคนประเมินอาการ และวางแผนการรักษาสำหรับเด็ก ๆ อย่างเหมาะสม
เนื้อหาทั้งหมดนี้ คือ ความรู้ความเข้าใจในเรื่อง ปัญหาฟันผุในเด็ก ที่ Happybabys นำเอาฝากให้ทุกท่านได้ลองอ่าน เพื่อให้ทุกท่านได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพช่องปาก และสามารถนำแนวทางการดูแลรักษาช่องปากอย่างถูกต้อง ไปปรับใช้กับตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ก็ไม่ควรละเลยความสำคัญของการดูแลช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ