โควิดในเด็ก

โควิดในเด็ก ปี 2568 มีลักษะอาการอย่างไรบ้าง

โควิดในเด็ก อีกหนึ่งโรคระบาดที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านกำลังรู้สึกกังวล เพราะมีรายงานข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กลับมาอีกครั้งในปี 2568 หลังจากมีการพบเชื้อโควิดในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2563 จนเกิดการระบาดเป็นโรคร้าย ที่เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนทั้งหมด แม้คนไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กันแล้ว แต่ด้วยความที่เด็กถูกจัดให้เป็นบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่ยังหมดห่วงไม่ได้

บทความของ Happybabys แม่และเด็ก บทความนี้ จะพาท่านผู้อ่านทุกท่านไปติดตามสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในเด็ก เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะอาการของโรคว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งวิธีการป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิดในเด็ก ไปจนถึงแนวทางการรักษา หากลูกน้อยติดเชื้อโควิด-19 หากท่านผู้อ่านพร้อมแล้ว สามารถอ่านเนื้อหาของเราในหัวข้อต่อไปได้เลย

โควิดในเด็ก ปี 2568 แตกต่างจากเดิมหรือไม่

แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปี 2568 จะไม่รุนแรงเหมือนการระบาดครั้งก่อน แต่ก็ยังมีรายงานการติดเชื้อในเด็กอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเด็กทุกคน ถูกจัดให้เป็นบุคคลในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 อยู่แล้ว เพราะร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันของเด็ก ยังไม่แข็งแรงเท่ากับร่างกายและภูมิคุ้มกันของผู้ใหญ่

เด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ เด็กที่ยังได้รับการฉีดวัคซีนไม่ครบ และเด็กที่มีโรคประจำตัว ยังคงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายเหมือนเดิม การเฝ้าระวังและสังเกตอาการของลูกน้อย จึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

อาการของโควิดปี 2568 ที่พบในเด็ก

  • มีไข้ เป็นไปได้ทั้งมีไข้สูงหรือไข้ต่ำ
  • ไอแห้ง เจ็บคอ เสียงแหบ
  • มีน้ำมูก คัดจมูก
  • เบื่ออาหาร หรือ กินนมได้น้อยลง
  • เหนื่อยง่าย หายใจแรง
  • ในเด็กบางรายอาจพบอาการ อาเจียน หรือ ท้องเสีย ร่วมด้วย

ยังมีข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญที่พบว่า เด็กบางคนที่ติดเชื้อโควิด-19 อาจไม่แสดงอาการเลยก็ได้ หรืออาจแสดงอาการที่ไม่รุนแรง นั่นเป็นเพราะเด็กอาจเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนแล้ว หรือได้รับวัคซีนครบแล้ว แต่ในกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กเล็กหรือเด็กที่มีโรคประจำตัว ยังมีโอกาสที่เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่าง ปอดอักเสบ หรือ ภาวะอักเสบรุนแรงหลายระบบหลังติดโควิดได้

การดูแลลูกน้อยที่ติด โควิดในเด็ก

หากมีการตรวจพบว่าเด็กมีการติดเชื้อโควิด-19 ควรทำการกักตัวอย่างน้อย 5-7 วันและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะอาการของโรคโควิดอาจจะแสดงออกมาในภายหลัง และดูแลลูกน้อยตามขั้นตอน ดังนี้

  • แยกตัว หรือ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้สูงอายุในบ้าน
  • สามารถให้ยาพาราเซตามอลกับเด็กได้ แต่ถ้าหากเด็กมีไข้สูง ควรนำไปพบแพทย์
  • ให้เด็กดื่มน้ำให้มาก ๆ หลีกเลี่ยงอาหารมันและอาหารรสหวานจัด
  • ควรให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ
  • วัดไข้และออกซิเจนปลายนิ้ววันละ 2 ครั้ง หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์

ลองโควิด อีกหนึ่งเรื่องที่มองข้ามไม่ได้

เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้รับการดูแลรักษาจนตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ยังมีเรื่องสำคัญ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวังด้วย นั่นคืออาการลองโควิด (Long Covid) เพราะในเด็กบางรายอาจมีอาการแสดงให้เห็นต่อเนื่อง โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการของลูกได้ ดังนี้

  • มีอาการไอเรื้อรัง หอบเหนื่อย
  • เด็กมีอาการซึม ไม่ร่าเริง
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • ลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น หงุดหงิดง่าย สมาธิสั้นลง

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตลูกน้อยแล้ว มีอาการเหล่านี้ปรากฏให้เห็น ควรนำตัวลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมทันที

ข้อมูลทั้งหมดนี้ คือการติดตามสถานการณ์ของโรค โควิดในเด็ก ในปี 2568 พร้อมทั้งอธิบายลักษณะอาการของเด็กที่ติดเชื้อ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่หรือท่านผู้อ่าน ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเฝ้าระวังและสังเกตอาการของลูกน้อย หากลูกน้อยของคุณมีอาการหรือมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด สามารถนำตัวลูกไปพบแพทย์ได้โดยทันที

แชร์บทความนี้
Scroll to Top