ไอกรน

รู้จักกับกับโรค ไอกรน อันตรายที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

ไอกรน โรคติดต่ออันตรายที่กำลังระบาดอย่างหนักในประเทศไทย จากการรายงานข่าวในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ปี 2567 ที่ผ่านมา พบว่าในไทยมีผู้ติดเชื้อโรคไอกรนไปกว่า 1,290 รายแล้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567) แม้โรคนี้จะติดต่อได้ในคนทุกเพศทุกวัยก็จริง แต่อาการของโรคจะรุนแรงที่สุดในเด็กเล็ก และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงเช่นกัน ซึ่งบทความของ Happybaby ในวันนี้ จะพาคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านมาทำความรู้จักกับโรคไอกรน เพื่อที่จะได้สังเกตอาการของลูกน้อยว่ามีความเสี่ยงหรือติดเชื้อแล้วหรือไม่ รวมไปถึงการป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดต่ออันตรายภายในครอบครัวของท่านอีกด้วย

โรค ไอกรน คืออะไร

หลายท่านอาจจะยังสงสัยว่าโรค ไอกรนคือ อะไร เพราะส่วนใหญ่แล้ว คนมักจะเรียกโรคนี้ว่า ไอร้อยวัน โดยทางการแพทย์ได้ทำการวินิจฉัยไว้แล้วว่าโรคไอกรน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า Bordetella pertussis ซึ่งในความเป็นจริง โรคนี้มีวัคซีนป้องกันโรคมานานกว่า 50 ปีแล้ว จึงทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่ก็ยังพบการระบาดได้บ้าง ในช่วง 1 มกราคม 2566 – 1 มีนาคม 2567 กลับมีรายงานของผู้ป่วยที่ติดโรคไอกรนทั้งหมด 2,700 ราย กว่า 40% ของจำนวนดังกล่าวคือผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กในช่วง 1-4 ปี

โรค ไอกรนอาการ เป็นอย่างไร

โรคไอกรน จะมีระยะฟักตัวราว ๆ 7-10 วัน และอาจจะนานถึง 20 วันก็ได้ โดยอาการจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้

  1. ระยะน้ำมูก – อาการของระยะนี้จะมีความคล้ายกับไข้หวัด มีไข้ต่ำๆ ไอ มีน้ำมูก ตาแดง ระยะนี้จะเป็นระยะที่แพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ง่ายมากที่สุด
  2. ระยะไอรุนแรง – ผู้ป่วยจะมีอาการไอเป็นชุด มีเสียงหายใจเข้าลึก ๆ คล้ายเสียง “วู๊ป” บางรายอาจไอหนักถึงขั้นอาเจียน อาการในระยะนี้จะคงอยู่ประมาณ 2-6 สัปดาห์
  3. ระยะฟื้นตัว – ความรุนแรงของอาการไอจะลดลง แต่ยังคงมีไออยู่เป็นช่วง ๆ ระยะนี้อาจกินเวลาหลายเดือนเลยก็ได้

ไอกรน และบุคคลกลุ่มเสี่ยง

โรคไอกรน สามารถติดต่อกันได้ในทุกเพศทุกวัย แต่ยังมีบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้ออีกด้วย เช่น เด็กเล็กที่ติดเชื้อและป่วยเป็นโรคไอกรน โดยเฉพาะในช่วงอายุ 1 ปี จะมีอาการป่วยรุนแรงกว่าปกติและอาจมีอาการแทรกซ้อนร่วมด้วย ทั้งปอดอักเสบ อาการไอรุนแรงอาจจะทำให้เด็กเล็กสามารถหยุดหายใจจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย นอกเหนือจากเด็กเล็กแล้ว ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง และคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ยังถือเป็นบุคคลกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงอีกด้วย ในส่วนของผู้สูงอายุจะมีร่างกายที่ต่อสู้กับเชื้อโรคได้ยากขึ้น และในกรณีของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หากติดเชื้อไอกรนจะส่งผลต่อทารกในครรภ์ มีความเสี่ยงที่ทำให้บุตรคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย ไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยด้วย

การป้องกันและการรักษาโรคไอกรน

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด เด็กเล็กจะได้รับวัคซีนป้องกันโรค ไอกรน เมื่อตอนอายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 18 เดือน และอีกครั้งในช่วงอายุ 4-6 ปี รวมทั้งหมด 5 ครั้ง ส่วนคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก่อนที่จะทำวัคซีน ในแง่ของการรักษา ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคไอกรนต้องได้รับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม หากผู้ป่วยได้รับยาช่วงที่มีอาการในระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะในช่วง 7 วันแรก ยาจะทำงานได้ดีมาก ๆ แต่ในเคสของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ยาปฏิชีวนะจะไม่ได้ช่วยให้ร่างกายดีขึ้นมากเท่าไรนัก ควรได้รับการรักษษจากแพทย์โดยตรงจะดีกว่า

โรคไอกรน คืออีกหนึ่งโรคอันตรายที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม แม้ว่าโรคนี้จะมีวัคซีนป้องกันมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ก็ยังมีรายงานผู้ติดเชื้อให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ และสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีเด็กเล็กอยู่ในครอบครัว ก็ควรมีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องของโรคไอกรนไว้ด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในครอบครัวของคุณ   

แชร์บทความนี้
Scroll to Top