ทารกรู้จักกลางวัน กลางคืนหรือไม่ คุณแม่มาทำความเข้าใจการนอนของทารกกัน คำถามที่ว่า ทารกรู้จักกลางวัน กลางคืนหรือไม่? ที่จริงแล้วเด็กทารกไม่รู้จักเวลาอย่างที่คิด เพราะตลอดเวลาที่อยู่ในท้องแม่ก็เจอแต่ความมืด ดังนั้น ทารกก็จะจับความรู้สึกว่า ควรนอนในเวลาที่แม่มีการเคลื่อนที่ เปรียบเหมือนการกล่อมให้หลับสนิท แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาพักผ่อนของแม่ ทารกก็จะเริ่มขยับตัว หรือยืดแขนขาแทน และเมื่อออกมาสู่โลกภายนอกก็ยังคงเป็นความเคยชิน จนถึงระยะหนึ่งก็จะมีการปรับตัวได้ไปตามช่วงวัย

สาเหตุที่ทำให้ทารกนอนหลับไม่สนิท
การนอนหลับสนิทถือเป็นเรื่องที่ช่วยทำให้ทารกเติบโตได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในช่วงแรก ๆ ทารกอาจตื่นตลอดคืนจนทำให้พ่อแม่เกิดความอิดโรยไปตาม ๆ กัน แต่เมื่อผ่านพ้นจากช่วง 4 – 6 เดือน ไปแล้ว ทารกจะนอนหลับได้นานมากขึ้น แต่ในรายที่ตื่นมาร้องไห้บ่อย ๆ อาจมี สาเหตุที่ทำให้ทารกนอนหลับไม่สนิท คือ
- ปวดฟัน อาจเนื่องมาจากฟันที่กำลังขึ้น ซึ่งพ่อแม่สามารถใช้ยาแก้ปวด หรือทาเจลแก้ปวดเพื่อบรรเทาได้
- ฝันร้าย ในกรณีนี้อาจเกิดจากการเล่นที่ผาดโผนเกินไปจนทำให้เก็บไปฝัน
- ไม่สบาย เช่น มีอาการคัดจมูก หรือเกิดอาการคันตามผิวหนัง
- ไม่อิ่ม อาจเนื่องจากการกินนมไม่เพียงพอ
- ผ้าอ้อมรัดแน่น หรือเลอะเทอะ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกไม่สบายตัว และนอนหลับไม่สนิท

การจัดสภาพแวดล้อมให้ทารกหลับสนิท
การจัดสภาพแวดล้อมให้ทารกหลับสนิท เป็นอีกหนึ่งอย่างที่พ่อแม่ต้องให้ความใส่ใจ เพราะมันสามารถช่วยให้ทารกหลับสนิทได้จริง โดยสิ่งที่ต้องทำมีดังนี้
- การจัดห้อง ภายในห้องต้องมีอุณหภูมิปกติ เสียงจากพัดลมไม่ควรดังมากเกินไป
- เสื้อผ้าที่ใส่ต้องสบายตัว เพื่อช่วยให้ทารกรู้สึกไม่อึดอัด
- นวดสัมผัส ด้วยการใช้โลชั่นทาผิวสำหรับเด็ก
- เข้านอนตรงเวลา เพราะทารกจะจำกิจวัตรได้ และห้ามอุ้มให้หลับ ไม่อย่างนั้นทารกจะไม่ยอมนอนเอง

พฤติกรรมการนอนของทารก
พ่อแม่ควรทำความเข้าใจกับ พฤติกรรมการนอนของทารก เช่น ในช่วงวัยทารกจะนอนหลับเป็นเวลา 3 – 4 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็จะเริ่มนอนนานขึ้น โดยหลัก ๆ แล้วก็จะมีอยู่แค่ 4 แบบ คือ
1. งีบหลับ หมายถึง การนอนในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง แล้วก็นอนต่อภายในอีก 1 ชั่วโมง ทำให้การนอนเป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่อง พ่อแม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการเรียกปลุกทารกให้ตื่นเป็นเวลาเดิมซ้ำ ๆ และให้นอนรอบต่อไปเป็นเวลาเดียวกัน ที่สำคัญไม่ว่าทารกจะง่วงนอนหรือไม่ก็ตาม ให้พาทารกนอนเป็นเวลาที่กำหนดก็จะช่วยให้หลับนานขึ้น
2. ตื่นเช้า หมายถึง ในช่วงกลางคืนอาจนอนนานเต็มที่ และมีการตื่นในช่วงเช้ามืด ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อที่พ่อแม่จะได้พักผ่อนเต็มที่ก็คือ พ่อแม่จะต้องพาทารกเข้านอนในเวลาที่ช้าลง สมมติเคยนอนตอน 2 ทุ่ม ก็อาจปรับเวลาให้นานขึ้นอีกสักครึ่งชั่วโมง เพื่อให้การนอนยาวนานขึ้นอีกหน่อย หรือถ้าไม่ได้ผลก็ให้ปิดไฟให้มืดแล้วกล่อมให้นอนต่ออีกสักพักหนึ่ง
3. ตื่นง่าย หมายถึง ทารกที่นอนหลับได้ง่าย และก็ตื่นได้ง่ายด้วยเช่นกัน อาจเนื่องจากว่ามีการรู้สึกตัวเร็วจากสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเสียง หรือแสงก็ตาม ดังนั้น วิธีแก้ก็คือ พ่อแม่จะต้องปล่อยให้ทารกค่อย ๆ หลับต่อไปด้วยตัวเอง เพราะถ้าหากเข้าไปอุ้มก็จะทำให้ทารกตื่นทันที อีกอย่างบรรยากาศภายในห้องก็ควรทำให้มืดสนิท และเก็บเสียงได้เพื่อการนอนต่อที่ง่ายขึ้น
4. นอนยาก หมายถึง ทารกที่ไม่ยอมหลับในที่ของตัวเอง แต่ไปหลับในสถานที่อื่น ๆ ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่หนักเอาเรื่องสำหรับพ่อแม่ เพราะฉะนั้นพ่อแม่จะต้องมีการฝึกให้นอนเป็นเวลา และเมื่อทารกเกิดการจดจำแล้วก็จะทำให้รู้จักการนอนอย่างถูกที่ หรือถ้าทารกกำลังจะหลับในสถานที่อื่น พ่อแม่สามารถหาสิ่งจูงใจเพื่อไม่ให้ทารกหลับ และพากลับมานอนที่บ้านก็จะเป็นการดี